ทำความรู้จักกับ “ซาปิน” ศิลปะการแสดงของชาวมลายู

หน้าแรก ย้อนกลับ ทำความรู้จักกับ “ซาปิน” ศิลปะการแสดงของชาวมลายู

ทำความรู้จักกับ “ซาปิน” ศิลปะการแสดงของชาวมลายู

ที่มา: https://www.flickr.com/

ทำความรู้จักกับ “ซาปิน” ศิลปะการแสดงของชาวมลายู

วรรณพิชชา โตะสัน

 

        ซาปิน (Zapin) มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของหมู่ชาวเชื้อสายมลายู เป็นการเต้นรำพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ในประเทศไทยสามารถพบการแสดงนี้ได้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา    และนราธิวาส ส่วนประเทศที่พบการแสดงนี้ได้มากที่สุด คือ ประเทศมาเลเซีย ซาปินเป็นการเต้นรำประกอบจังหวะเพลงบรรเลงคล้ายกับรำวงของไทยภาคกลาง แต่ซาปินเน้นจังหวะการใช้เท้าและลีลามากกว่าการใช้ท่ารำ แต่ละท่ามีการพลิกแพลงปลายเท้าที่สวยงามพลิ้วให้เข้าจังหวะกับดนตรี การแสดงซาปินมีผู้แสดง 12 คน แบ่งเป็นหญิงชายฝ่ายละ 6 คน จับคู่เต้นกันเป็นกลุ่ม และใช้เครื่องดนตรีเพียงแค่ไม่กี่ชิ้น ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบการเต้นใหม่ ๆ ต่างจากรูปแบบเดิมมาก เช่นเดิมมีท่าเต้นรำเพียงท่าเดียว ก็ได้คิดประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายท่า นอกจากนี้ยังมีไวโอลินเข้ามาประกอบในการทำเสียงดนตรีด้วย แต่จังหวะ ทำนองเพลง และการแต่งกายยังคงความเป็นเอกลักษณ์ตามรูปแบบเดิม

ประวัติความเป็นมา

แนวคิดจุดกำเนิดของซาปิน 

        แนวคิดแรก คือ เกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมของพ่อค้าชาวสเปนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 เมื่อครั้งที่ชาวสเปนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับบรรดาหัวเมืองชาวมลายู โดยเฉพาะเมืองปัตตานีอันเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง แล้วเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองเดิม จึงก่อให้เกิดการแสดงออกด้านศิลปะการเต้นรำในลีลาใหม่ที่เรียกว่าการเต้นรำแบบสเปน แล้วค่อย ๆ เรียกเพี้ยนไปเป็นซาปิน

      แนวคิดที่ 2 คือ ประเทศสเปนนำเข้ามาในประเทศฟิลิปปินส์ก่อน และเมื่อชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน จึงทำให้นาฎศิลป์การเต้นซาปินเข้ามาในดินแดนมลายู

        แนวคิดที่ 3 คือ การเต้นซาปินอาจเป็นศิลปะในราชสำนักของบรรดาสุลต่านตามหัวเมืองมลายูมาก่อน โดยที่    ราชสำนักได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของชาวสเปนที่มาจากกลุ่มพ่อค้าอาหรับที่เคยติดต่อค้าขายกับประเทศสเปน บรรดาพ่อค้าอาหรับเหล่านี้ได้นำเอาศิลปะการเต้นระบำของชาวสเปนมาเผยแพร่ จึงเกิดการผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมืองจนกลายมาเป็นซาปิน

การแต่งกาย

      มีทั้งระดับในราชสำนักลงมาถึงระดับชาวบ้าน ส่วนมากเป็นการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับโอกาสต่าง ๆ แต่ยังคงลักษณะเด่นบางอย่างไว้นั่นคือความมิดชิด ลักษณะการแต่งกายของซาปินส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องใหญ่หรือการแต่งกายแบบชุดราชสำนักเนื่องจากการเต้นซาปินนั้นจัดเป็นศิลปะชั้นสูง นิยมแสดงใน  ราชสำนักของสุลต่านแถบหัวเมืองมลายู ใช้แสดงเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ดังนั้นการแต่งกายจึงเน้นความสวยงามและความหรูหรา                    โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ชาย

  1. กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวคอปิด ติดกระดุม 3 เม็ด เรียกว่า จือโระบรางอ

  2. ผ้านุ่งทับกางเกงสั้นเหนือเข่า เรียกว่า ผ้าซอแกะ

  3. เข็มขัดทับกางเกงและผ้าซอแกะ เรียกว่า เปินแนะ

  4. หมวก ตัดเย็บด้วยผ้า เรียกว่า ซะตางัน

ผู้หญิง

  1. นุ่งผ้ายาวกรอมเท้า จีบหน้านาง

  2. สวมเสื้อเข้ารูปแขนกระบอก ตัวยาวคลุมสะโพก เรียกว่า ปันดง หรือ ปันนัง

  3. คลุมผ้าสไบ เรียกว่า กาเฮงสะบา

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง 

  1. ไวโอลิน

  2. รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก

  3. ฆ้อง/โหม่ง

  4. แมนโดลิน

  5. แอดคอเดียน

 

 

ที่มา: https://shorturl.asia/gkqex

 

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). ซาปิน. https://shorturl.asia/gkqex
ปัณณภัทร. (2558). เราคืออาเซียน บรูไนดารุสซาลาม. (พิมพ์ครั้งที่ 4). อมรินทร์คอมมิกส์.
DCM Walailak University. (ม.ป.ป.). ซาปิน. https://shorturl.asia/uEINb
 

แชร์ 4106 ผู้ชม

ดนตรี การละเล่น ศิลปะพื้นบ้าน

องค์ความรู้